ประเพณียี่เป็ง
เป็นประเพณีลอยกระทงตามประเพณีล้านนาที่จัดทำขึ้นในวันเพ็ญเดือน 2 ของชาวล้านนา ยี่เป็ง เป็นภาษาคำเมืองในภาคเหนือ คำว่า
"ยี่" แปลว่า สอง และคำว่า "เป็ง" ตรงกับคำว่า
"เพ็ญ" หรือพระจันทร์เต็มดวง
ซึ่งชาวไทยในภาคเหนือจะนับเดือนทางจันทรคติเร็วกว่าไทยภาคกลาง 2 เดือน ทำให้
เดือนสิบสองของไทยภาคกลาง ตรงกับเดือนยี่ หรือเดือน 2 ของไทยล้านนา
ประเพณียี่เปงจะเริ่มตั้งแต่ วันขึ้น
13 ค่ำ ซึ่งถือว่าเป็น "วันดา"
หรือวันจ่ายของเตรียมไปทำบุญเลี้ยงพระที่วัด ครั้นถึงวันขึ้น 14 ค่ำ
พ่ออุ้ยแม่อุ้ยและผู้มีศรัทธาก็จะพากันไปถือศีล ฟังธรรม และทำบุญเลี้ยงพระที่วัด
มีการทำกระทงขนาดใหญ่ตั้งไว้ที่ลานวัด
ในกระทงนั้นจะใส่ของกินของใช้
ใครจะเอาของมาร่วมสมทบด้วยก็ได้เพื่อเป็นทานแก่คนยากจน ครั้นถึง วันขึ้น 15 ค่ำ
จึงนำกระทงใหญ่ที่วัดและกระทงเล็ก ๆ ของส่วนตัวไปลอยในลำน้ำ
ในงานบุญยี่เป็งนอกจากจะมีการปฏิบัติธรรม ฟังเทศน์มหาชาติตามวัดวาอารามต่าง
ๆ แล้ว ยังมีการประดับตกแต่งวัด บ้านเรือน และถนนหนทางด้วยต้นกล้วย ต้นอ้อย
ทางมะพร้าว ดอกไม้ ตุง ช่อประทีป และชักโคมยี่เป็งแบบต่าง ๆ ขึ้นเป็นพุทธบูชา
พอตกกลางคืนก็จะมีมหรสพและการละเล่นมากมาย มีการแห่โคมทอง พร้อมกับมีการจุดถ้วยประทีป
(การจุดผางปะติ๊ด) เพื่อบูชาพระรัตนตรัย
การจุดบอกไฟ การจุดโคมไฟประดับตกแต่งตามวัดวาอาราม
และการจุดโคมลอยปล่อยขึ้นสู่ท้องฟ้าเพื่อบูชาพระเกตุแก้วจุฬามณีบนสรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
ตามวัฒนธรรมของล้านนาจะแบ่งโคมไฟออกเป็น 4 แบบ คือ "โคมติ้ว"
หรือ โคมไฟเล็กที่ห้อยอยู่กับซีกไม้ไผ่ซึ่งผู้คนจะถือไปในขบวนแห่และนำไปแขวนไว้ที่วัด แบบที่สองเรียก "โคมแขวน" ที่ใช้แขวนบูชาพระพุทธรูปแบบด้วยกันเช่น รูปดาว
รูปตะกร้า โดยปกติจะใช้แขวนตามวัดหรือตามหิ้งพระก็ได้แบบที่สามเรียก
"โคมพัด" ทำด้วยกระดาษสาเป็นรูปกรวยสองอันพันรองแกนเดียวกันด้านนอกจะไม่มีลวดลายอะไรส่วนด้านในจะตัดแต่งเป็นรูปทรงต่าง
ๆ ในทางพุทธศาสนา เมื่อจุดโคมด้านใน แสงสว่างจะทำให้เกิดเงาบนกรวย
ด้านนอกก็จะเคลื่อนไหวคล้ายตัวหนังตะลุงแบบสุดท้ายเรียก "โคมลอย"
เป็นโคมใหญ่มีรูปร่างคล้ายบอลลูน ตัวโครงทำจากซีกไม้ไผ่หุ้มด้วยกระดาษสา
เมื่อจุดโคม ความร้อนจากเปลวไฟ จะทำให้โคมลอยตัวขึ้น การปล่อยโคมลอยนี้จะทำกันที่วัดหรือตามบ้านคน
โดยเชื่อกันว่าโชคร้ายทั้งหลายจะลอยไปกับโคม
ในช่วงมีพิธีนี้ทั้งวันทั้งคืน
ชาวบ้านและพระสงฆ์จะช่วยกันทำโคมอย่างขะมักเขม้น นอกจากบริเวณโรงแรมใหญ่ ๆ แล้ว
บริเวณวัดก็จัดเป็นสถานีที่เหมาะสำหรับการปล่อยโคมอีกด้วย
กิจกรรมนี้ได้รับความนิยมมากเสียจนกระทั่งว่าในช่วงสำคัญของงานการฝึกบินของกองทัพอากาศไทยต้องหยุดระงับไว้ชั่วคราวจนกว่าโคมเหล่านี้จะลอยไปหมดแล้ว
ในขณะที่การบินพาณิชย์ที่สนามบินก็ได้รับคำเตือนให้เพิ่มความระมัดระวังอย่างมากที่สุดเพราะโคมที่กำลังลอยขึ้นนี้อาจเป็นอันตรายต่อใบพัดของเครื่องยนต์ไอพ่นได้
เพื่อร่วมฉลองโอกาสอันเป็นมงคลนี้
แต่ละคนต่างก็ทำบุญโดยการออกค่าใช้จ่ายในการทำบัลลูนเพื่อขับไล่โชคร้ายออกไปและให้โชคดีเข้ามาแทนที่
ถ้าหากโคมลอยของพวกเขาขึ้นไปได้สูงและลอยไปได้ไกลมาก นี่ก็แสดงว่าเขาจะประสบความเจริญรุ่งเรือง
กล่าวกันว่า โคมลอยที่ใช้ความร้อนชนิดนี้สามารถลอยขึ้นได้สูงถึง 1,250 เมตร
และลอยไปไกลได้ถึงแม้กระทั่งอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลาของภาคใต้
เหตุการณ์ที่น่าชมมากที่สุดจัดขึ้นที่บริเวณประตูท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่
ซึ่งนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศสามารถชมพุ่มต่าง ๆ การเดินขบวนและนางงามยี่เป็งได้ด้วยทันทีที่พลบค่ำคนชมจะได้ตื่นเต้นกับการได้เห็นโคมลอยที่ดูติดกันเป็นสายยาวค่อย
ๆ
ลอยขึ้นไปสู่ท้องฟ้าอันเวิ้งว้างเหมือนหนึ่งจะกระตุ้นจิตใจของผู้ที่ร่วมงานให้ลอยสูงขึ้นไปบนสวรรค์ไม่มีผิด
นี่เป็นการนำมาซึ่งความรื่นเริงและความสุขแก่ผู้ที่ได้ทำบุญเพราะว่าโชคร้ายต่าง
ๆของพวกเขาได้ถูกลอยไปพร้อม ๆ กับโคมหมดแล้ว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น